แนวทางการบริหารโครงการในการทำงานแบบอไจล์(Agile)คืออะไร
บริหารโครงการ :แนวคิดในการทำงานแบบอไจล์(Agile)ได้เป็นแนวทางการบริหารโครงการหลักสำหรับองค์กรเทคโนโลยีจำนวนมากมาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 ในปัจจุบัน ทีมพัฒนาซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่ได้นำแนวคิดการทำงานแบบอไจล์(Agile)ไปใช้ในบางรูปแบบ และองค์ประกอบของวิธีนี้ก็ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อมในการทำงานต่างๆ มากมาย ศัพท์คำนี้เองก็เป็นที่นิยมมากขึ้น เนื่องจากในทุกวันนี้ บรรดาผู้นำทางความคิดต่างพูดถึงความจำเป็นที่จะต้อง “คล่องตัว (อไจล์)” มากยิ่งขึ้นในโลกของธุรกิจ แต่จริงๆ แล้ว การใช้แนวทางการบริหารโครงการแบบอไจล์(Agile)ในธุรกิจของคุณหมายความว่าอย่างไรกันแน่
การบริหารโครงการ แนวคิดในการทำงานแบบอไจล์(Agile)คือ
แนวคิดการพัฒนากระบวนการบริหารโครงการ ซึ่งจะแบ่งโครงการออกเป็นงานและขั้นตอนย่อยๆ การแบ่งงานออกเป็นส่วนย่อยๆ นี้ช่วยให้ทีมอไจล์สามารถรวบรวมข้อคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประเมินงานอีกครั้ง แล้วดำเนินการในรูปแบบของการทำซ้ำในทุกๆ จุดของกระบวนการได้ การทำงานยุคใหม่ที่ใช้กันมากที่สุดอย่างหนึ่งคือการแบ่งรอบการดำเนินงานเป็นระยะการพัฒนาสั้นๆ ซึ่งเรียกว่าสปรินต์ (Sprint) สิ่งนี้จะช่วยให้ทีมทำงานได้อย่างรวดเร็ว แล้วประเมินงานดังกล่าวอีกครั้งกับผู้จัดการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการวางแผนสปรินต์และสกรัมรายวันได้อย่างสม่ำเสมอ ในขณะตรวจสอบ ทีมของโครงการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะสามารถดำเนินงานต่อไปตามแผนในปัจจุบันหรือเปลี่ยนแผนสำหรับสปรินต์ที่กำลังจะมาถึงได้ เมื่อเปรียบเทียบกับแนวทางการบริหารโครงการแบบดั้งเดิม อไจล์จะให้ความสำคัญกับความรวดเร็ว ความยืดหยุ่น การทำงานเป็นทีม และความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
อไจล์มาจากไหน
แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังอไจล์เกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 จากกลุ่มนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่กำหนดหลักการอไจล์สี่ประการหลัก ได้แก่
- เน้นปัจเจกชนและปฏิสัมพันธ์มากกว่ากระบวนการและเครื่องมือ
- เน้นซอฟต์แวร์ที่ใช้งานได้จริงมากกว่าเอกสารที่ครบถ้วน
- เน้นความร่วมมือกับลูกค้ามากกว่าการต่อรองเกี่ยวกับสัญญา
- เน้นการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงมากกว่าการทำตามแผนที่วางไว้
- ค่านิยมเหล่านี้ได้รับการระบุไว้ในคำแถลงอุดมการณ์แห่งอไจล์ (Agile Manifesto) ซึ่งเผยแพร่ในปี 2001 และได้กำหนดแนวทางการบริหารโครงการแบบอไจล์(Agile)และเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมการพัฒนาซอฟต์แวร์
ซึ่งก่อนหน้านั้น แนวคิดในการทำงานแบบน้ำตก (WaterFall)เคยได้รับการพิจารณาว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสมในการจัดการกับโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์ แม้ว่าแนวคิดในการทำงานแบบน้ำตกจะเป็นนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่เมื่อมีการเผยแพร่เป็นครั้งแรกในช่วงทศวรรษที่ 1970 แต่แนวคิดดังกล่าวกลับเริ่มเป็นเรื่องยุ่งยากในช่วงทศวรรษที่ 2000 สิ่งสำคัญคือ แนวคิดในการทำงานแบบน้ำตกนั้นต้องมีการจัดทำเอกสารจำนวนมากและการวางแผนอย่างเด็ดขาดก่อนจึงจะเริ่มต้นโครงการได้ เมื่องานเริ่มต้นขึ้นจริงๆ แล้ว ทีมงานที่อยู่แยกจากกันโดยไม่มีการสื่อสารแลกเปลี่ยนจะดำเนินการตามแผนเหล่านั้นอย่างเคร่งครัด ซึ่งส่งผลให้ปรับตัวตามปัญหาหรือการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในยามจำเป็นได้ยาก เมื่อเทียบกันแล้ว ทีมที่ใช้วิธีการพัฒนาแบบอไจล์(Agile)จะเริ่มงานได้เร็วกว่า ปรับตัวตามปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทันที และวางแผนร่วมกับลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้โดยตรง
เหตุใดการบริหารโครงการแบบอไจล์(Agile)ถึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
เมื่อเทียบกับแนวคิดในการทำงานแบบน้ำตก ประโยชน์ของอไจล์นั้นเป็นที่เห็นได้ชัดเจนสำหรับบริษัทเทคโนโลยีในทศวรรษที่ 2000 ข้อดีของการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบอไจล์(Agile)ได้ขยายออกไปมากกว่าเพียงโลกของการเขียนโปรแกรมแล้ว เนื่องจากอุตสาหกรรมอื่นๆ มากมายได้นำอไจล์ไปปรับใช้กับขั้นตอนการทำงานของตนแล้วในขณะนี้ แล้วแบบนี้ อะไรคือสิ่งที่ทำให้อไจล์เป็นที่สนใจของผู้จัดการโครงการและผู้นำธุรกิจต่างๆ มากมายกันล่ะ
การปรับตัว
หัวใจหลักของวิธีการทำงานแบบอไจล์(Agile)คือความสามารถในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเป้าหมาย สภาพแวดล้อม หรือปัญหาของกระบวนการได้ เมื่อนำกรอบการทำงานแบบอไจล์(Agile)มาใช้กับแนวทางการทำงาน จะช่วยให้สามารถประเมินงาน ลำดับเวลา และความต้องการของโครงการในปัจจุบันได้ หากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องการเปลี่ยนขอบเขตหรือทิศทางของโครงการ สกรัมและการวางแผนสปรินต์จะเปิดโอกาสให้ทีมเปลี่ยนแนวทางดำเนินงานได้ หากสมาชิกในทีมพบปัญหาเกี่ยวกับงานปัจจุบันหรือบางส่วนของโครงการ ก็สามารถปรับกำหนดการเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าวได้อย่างรวดเร็ว อไจล์จึงช่วยให้คุณเปลี่ยนแปลงแนวทางดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้ทีมในโครงการของคุณไม่ต้องทุ่มเททำในสิ่งที่ไม่ตรงตามความต้องการของลูกค้า
การปรับให้สอดคล้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
อไจล์ที่มาพร้อมความยืดหยุ่นในระดับนี้ยังช่วยให้ดำเนินการได้สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาของลูกค้าและผู้ใช้บริการอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นโครงการใดๆ ก็มีเพียงน้อยครั้งที่เป้าหมายและขอบเขตที่ระบุไว้ในตอนแรกเริ่มระหว่างทีมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของคุณจะยังคงเหมือนเดิม ในบางครั้ง ผู้ใช้บริการอาจต้องการงานหรือมีความต้องการเพิ่มขึ้นโดยที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า หรือความต้องการของผู้บริโภคปลายทางได้เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา ไม่ว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะมีเหตุผลใดในการเปลี่ยนแผน แต่อไจล์จะช่วยให้คุณตอบรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้เร็วยิ่งขึ้นเพื่อให้ส่งมอบงานได้อย่างรวดเร็วและหลีกเลี่ยงงานค้าง วิธีนี้จึงช่วยให้มั่นใจได้ว่างานที่ส่งมอบจะตรงตามความคาดหวังที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเริ่มต้นโครงการมานานเพียงใดแล้วก็ตาม
ความเร็ว
แน่นอนว่าแนวคิดในการทำงานแบบอไจล์(Agile)คงจะใช้ชื่อนี้ไม่ได้หากวิธีการนี้ไม่ได้มีความคล่องตัว (อไจล์) โดยธรรมชาติ อไจล์จะช่วยให้ทีมของคุณโฟกัสและทำงานได้เร็วขึ้นด้วยการแบ่งงานของทีมออกเป็นส่วนย่อยๆ และให้ระยะเวลาในการทำงานที่สั้นลงและชัดเจน ในระดับพื้นฐานนั้น วิธีการนี้ช่วยให้ผลิตภัณฑ์เข้าถึงตลาดหรือผู้ใช้บริการได้เร็วขึ้น แต่หัวใจหลักของวิธีการนี้คือความรวดเร็วที่มาควบคู่กับความสามารถในการปรับตัว และสิ่งนี้เองที่ทำให้อไจล์เป็นที่สนใจจากทุกวงการธุรกิจ เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ทีมของคุณก็สามารถเปลี่ยนแนวทางการทำงานและรับมือกับปัญหาเหล่านั้นได้อย่างรวดเร็ว คุณไม่ต้องเสียเวลากลับไปที่แผนหรือเอกสารเดิม เพราะสิ่งที่คุณต้องทำมีเพียงยกประเด็นปัญหาขึ้นมาในสกรัม (scrum) กำหนดเวลาให้กับปัญหานั้น แล้วลงมือแก้ไข ด้วยวิธีนี้ อไจล์จะช่วยให้ทีมของคุณมุ่งเน้นไปที่งานแต่ละงานและทำให้เสร็จภายในเวลาได้
อะไรคือความท้าทายของแนวทางแบบอไจล์(Agile)
อย่างไรก็ตาม อไจล์นั้นเป็นโซลูชันที่อาจเกิดข้อผิดพลาดขึ้นได้ แนวทางนี้มีทั้งจุดเด่นและจุดที่ต้องนำไปพิจารณาเมื่อใช้งาน ซึ่งไม่ต่างจากแนวทางการบริหารโครงการแบบอื่นๆ การใช้แนวคิดในการทำงานแบบอไจล์(Agile)ก็มีข้อเสียและความท้าทายที่อาจรบกวนการทำงานได้หากไม่มีการจัดการอย่างเหมาะสม เช่นเดียวกันกับแนวคิดในการทำงานแบบน้ำตก
การจัดการขอบเขต
เนื่องจากอไจล์สามารถปรับตัวตามปัญหาและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของกระบวนการได้อย่างรวดเร็ว การดูขอบเขตและโครงการโดยรวมของคุณจึงเป็นเรื่องสำคัญ อไจล์ช่วยให้คุณเปลี่ยนแปลงแผนและงานได้อย่างรวดเร็ว แต่การเปลี่ยนไปมาระหว่างงานอย่างรวดเร็วก็สามารถทำให้คุณสับสนเกี่ยวกับความคืบหน้าโดยรวมของกระบวนการได้ แม้ว่าทีมของคุณจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่คุณก็อาจใช้จ่ายเกินงบประมาณหรือใช้เวลามากเกินไปได้หากไม่คอยตรวจสอบงานตามรายการที่สร้างขึ้นจากการวางแผนสปรินต์ ทีมอไจล์และผู้จัดการโครงการจึงต้องคอยควบคุมขอบเขตและแผนงานของโครงการเพื่อให้แน่ใจได้ว่าปริมาณงานที่กำลังทำอยู่นั้นไม่มากเกินการควบคุม
การกำหนดเวลา
ขอบเขตไม่ใช่เพียงสิ่งเดียวซึ่งทีมที่ใช้กระบวนการแบบอไจล์(Agile)อาจปล่อยปละละเลยไป เมื่อใช้การวางแผนสปรินต์ ทีมต่างๆ จะสามารถยืดหยุ่นกับการกำหนดการและลำดับความสำคัญของตนตามความต้องการในปัจจุบันได้ แต่เมื่อสมาชิกในทีมเริ่มย้ายไปมาและจัดการกับงานใหม่ๆ หรือให้การสนับสนุนในการรับมือกับปัญหา กำหนดการก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับสิ่งที่เกิดขึ้น หากคุณยังคงรักษากำหนดการที่เคร่งครัดไว้ คุณจำเป็นต้องแน่ใจว่าการวางแผนสปรินต์นั้นยังคงอยู่ภายในกรอบเวลาดังกล่าว
นอกจากนี้ แม้ว่าทีมต่างๆ ที่มีการจัดการตนเองอาจสลับไปทำงานอื่นๆ ได้ตามความต้องการ แต่สุดท้ายแล้ว พวกเขาก็จำเป็นต้องกลับมาทำงานที่ได้รับมอบหมายของตน ในจุดนี้ ผู้จัดการโครงการแบบอไจล์(Agile)มีหน้าที่ที่ต้องทราบจุดที่ทีมทำงานอยู่ในงานทั้งหมด และตรวจสอบว่าไม่มีงานใดถูกปล่อยไว้โดยไม่มีคนรับผิดชอบ มิฉะนั้นอาจมีงานที่คิดว่าทำเสร็จแล้วแต่กลับถูกลืมในระหว่างทำงานตามสปรินต์ต่างๆ มากมายที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว
การสื่อสาร
ในทำงานยุคใหม่แบบอไจล์(Agile)นั้น การให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีมและการตอบสนองอย่างรวดเร็วย่อมหมายความว่าการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญที่สุด สมาชิกในทีมต้องสามารถสื่อสารถึงความคืบหน้าในปัจจุบันของตน รวมถึงแจ้งว่ามีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นและต้องการความช่วยเหลือหรือไม่ได้โดยง่าย การสื่อสารเช่นนี้ระหว่างสมาชิกทุกคนในทีมต้องเกิดขึ้นเป็นประจำ และต้องมีการกำหนดให้การสื่อสารนี้เป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนโดยตรง การดำเนินงานให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่เสมอเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากคุณจะเปลี่ยนแผนได้ก็ต่อเมื่อคุณทราบถึงสิ่งที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องการ
วิธีการนำแนวคิดการพัฒนากระบวนการทำงานแบบอไจล์(Agile)มาใช้งาน
หากคุณสนใจที่จะนำแนวคิดในการบริหารโครงการแบบอไจล์(Agile)มาใช้กับทีมของคุณ กลยุทธ์และแนวทางปฏิบัติที่ผ่านการพิสูจน์ว่าได้ผลนั้นมีอยู่มากมาย โดยสปรินต์และสกรัมเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้กันแพร่หลายมากที่สุด แน่นอนว่าการใช้เครื่องมือและซอฟต์แวร์การบริหารโครงการที่เหมาะสมก็เป็นตัวตัดสินว่าแนวทางการวางแผนแบบอไจล์(Agile)จะประสบผลสำเร็จหรือล้มเหลวได้เช่นกัน แนวคิดการพัฒนากระบวนการทำงานและกระบวนการที่สำคัญที่สุดบางส่วนในการสร้างและดำเนินการตามแนวคิดในการทำงานแบบอไจล์(Agile)มีดังต่อไปนี้
ติดตามงานของคุณ
คุณจำเป็นต้องทราบว่ามีงานใดบ้างที่เสร็จเรียบร้อยไปแล้วเพื่อให้ทราบถึงงานที่ต้องทำในสปรินต์ต่อไป ด้วยเหตุนี้ ทีมของคุณจึงต้องมีความเชี่ยวชาญในการติดตามความคืบหน้าของตน การวิเคราะห์ลำดับความสำคัญของงานที่ต้องทำ (Backlog Refinement) หรือการจัดระเบียบงานที่ต้องทำ (Backlog Grooming) เป็นเทคนิคที่ทีมแบบอไจล์(Agile)ใช้กันอย่างแพร่หลาย เทคนิคดังกล่าวมุ่งเน้นให้ทีมมีความโปร่งใส โดยมีการจัดลำดับความสำคัญของชิ้นงานที่ต้องทำ (Backlog Item) และตรวจสอบว่าชิ้นงานที่อยู่ด้านบนสุดของรายการพร้อมส่งแล้ว ทีมสกรัมมักใช้กระดานสำหรับวางแผนหรือกระดานคัมบัง (Kanban board) เพื่อติดตามสิ่งต่างๆ แต่หลายคนก็เลือกใช้ซอฟต์แวร์การจัดการงาน Dropbox ช่วยให้สามารถรวมซอฟต์แวร์การจัดการงานต่างๆ เช่น Trello เข้าด้วยกันได้ ซึ่งช่วยให้ทีมของคุณมีข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการที่ตรงกันบนแอปต่างๆ ได้แบบเรียลไทม์
สื่อสารอย่างสม่ำเสมอและมีประสิทธิภาพ
การสื่อสารที่เหมาะสมคือหัวใจสำคัญของกรอบการทำงานในการบริหารโครงการแบบอไจล์(Agile)ทั้งหมด ดังนั้นการมอบวิธีสื่อสารและเปิดโอกาสให้ทีมได้สื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ในขณะที่สปรินต์ต่างๆ มักใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์อย่างเร็ว ผู้ควบคุมสกรัม (Scrum master) หลายๆ คนจะจัด “การยืนประชุม” แบบรายวันกับทีมเพื่อควบคุมความคืบหน้าแบบวันต่อวัน แม้ว่าคุณและทีมของคุณจะเป็นผู้กำหนดจังหวะในการสื่อสารแบบเฉพาะ แต่การใช้เครื่องมือต่างๆ จะช่วยให้การสื่อสารเหล่านั้นดำเนินไปโดยง่ายยิ่งขึ้นได้ Dropbox Spaces ช่วยให้คุณจัดเก็บเนื้อหาทั้งหมดของคุณไว้ในที่เดียวได้อย่างเป็นระเบียบไปพร้อมๆ กับการประสานงานกับทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุณสามารถกำหนดสิ่งที่ต้องทำหรือแสดงความคิดเห็นให้เพื่อนร่วมงานทราบถึงบริบทและทิศทางที่จำเป็นเพื่อให้มีข้อมูลที่ตรงกันได้ การผสานการทำงานเข้ากับแอปในการแชทแบบเรียลไทม์และการประชุมทางวิดีโอ เช่น Slack และ Zoom ยังช่วยให้คุณจัดเซสชันการประชุมและการวางแผนกับทีมได้อีกด้วย คุณสามารถแบ่งปันไฟล์และเริ่มการสนทนาได้โดยตรงจาก Dropbox ซึ่งจะช่วยลดเวลาที่ใช้ในการสลับไปมาระหว่างแถบและการเปลี่ยนบริบท สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการสื่อสารกับทีมแบบระยะไกลหรือการสื่อสารกับสมาชิกในทีมที่โต๊ะทำงานอยู่ไกลเกินไป
หยุดและตรวจสอบ
เมื่อทำงานแบบอไจล์(Agile) คุณอาจชอบการเปลี่ยนไปทำงานถัดไปโดยการทำเครื่องหมายไว้ว่าเสร็จแล้ว จากนั้นก็ข้ามไปเลย อย่างไรก็ตาม การกำหนดให้มีพื้นที่สำหรับการตรวจสอบและการสำรวจเพื่อปรับปรุงสปรินต์ (Sprint Retrospective) ในกระบวนการแบบอไจล์(Agile)ก็เป็นสิ่งสำคัญเพื่อป้องกันไม่ให้ทีมมีวิสัยทัศน์ที่คับแคบ (Tunnel vision) การกำหนดให้มีเวลาสำหรับการตรวจสอบในช่วงท้ายของแต่ละสปรินต์จะช่วยให้สมาชิกในทีมจัดลำดับความสำคัญและประเมินผลงานของตนเองอีกครั้งได้
คุณควรใช้การตรวจสอบสปรินต์แบบการวิเคราะห์สาเหตุ (Post-mortem) ในการตรวจสอบว่าการวางแผนของคุณส่งผลกระทบตลอดทุกช่วงของโครงการอย่างไรบ้าง สำหรับสิ่งเหล่านี้ การติดตามและการบันทึกงานของคุณอย่างเหมาะสมถือเป็นสิ่งจำเป็น Dropbox มีคุณสมบัติการควบคุมเวอร์ชันในตัวที่ช่วยให้คุณตรวจสอบไฟล์ของทีมได้ในทุกขั้นตอนของการพัฒนาในช่วงเวลานี้ นอกจากนี้ คุณยังใช้คุณสมบัตินี้ในระหว่างการยืนประชุมได้ เพื่อดูความคืบหน้าของสมาชิกในทีมแต่ละคนหรือย้อนกลับการเปลี่ยนแปลงที่อาจยังไม่ได้รับการอนุมัติ
การทำงานด้วยแนวคิดในการทำงานแบบอไจล์(Agile)
แนวคิดในการทำงานแบบอไจล์(Agile)ได้เปลี่ยนวิธีการทำงานแและมุมมองเกี่ยวกับความสำเร็จของธุรกิจและผู้จัดการต่างๆ มากมาย โดยวิธีการทำงานนี้ได้เป็นแรงขับเคลื่อนในกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 2000 อีกทั้งองค์ประกอบของวิธีการนี้ก็ได้แทรกซึมอยู่ในโลกของการทำงานแทบทุกหนแห่งอีกด้วย ไม่ว่าคุณจะกำลังคิดว่าจะนั่งร่วมประชุมสกรัมของทีมในเช้าวันพรุ่งนี้หรือแค่คุยผ่านทางอีเมล แต่ดูเหมือนว่าแนวคิดในการทำงานแบบอไจล์(Agile)ได้เป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายแล้ว
ขอบคุณที่มา dropbox.com/th_TH/business/resources/agile-methodology
Agile project management ในปี 2024
Agile คืออะไร?
Agile เป็นวิธีการจัดการโครงการแบบใหม่ที่เน้นความยืดหยุ่นและการปรับตัวได้มากกว่าวิธีการแบบดั้งเดิม เช่น Waterfall Agile แบ่งโครงการออกเป็นส่วนย่อยๆ เรียกว่า sprints ซึ่งช่วยให้ทีมได้รับคำติชมและปรับเปลี่ยนโครงการได้เร็วขึ้น
ทำไม Agile ถึงสำคัญในปี 2024?
ในโลกธุรกิจที่รวดเร็วในปัจจุบัน สิ่งสำคัญคือต้องสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว Agile ช่วยให้ทีมสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว
ประโยชน์ของ Agile
- ความยืดหยุ่น: Agile ช่วยให้ทีมสามารถปรับเปลี่ยนโครงการได้ตามต้องการ
- การสื่อสารที่ดีขึ้น: Agile เน้นการสื่อสารและความร่วมมือระหว่างสมาชิกในทีม
- การตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้เร็วขึ้น: Agile ช่วยให้ทีมสามารถรับคำติชมจากลูกค้าและปรับเปลี่ยนโครงการได้อย่างรวดเร็ว
- การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง: Agile ช่วยให้ทีมสามารถมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ Agile project management ในปี 2024
1. Agile คืออะไร และแตกต่างจากวิธีการจัดการโครงการแบบดั้งเดิมอย่างไร?
Agile เป็นแนวทางการจัดการโครงการที่เน้นความยืดหยุ่น การทำงานร่วมกัน และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง โดยแบ่งโครงการออกเป็นส่วนย่อย ๆ ที่เรียกว่า sprints และให้ความสำคัญกับการส่งมอบงานที่ใช้งานได้จริงอย่างต่อเนื่อง ต่างจากวิธีการแบบดั้งเดิม (เช่น Waterfall) ที่มีการวางแผนและกำหนดขอบเขตงานทั้งหมดไว้ล่วงหน้า Agile เปิดโอกาสให้ปรับเปลี่ยนแผนงานได้ตลอดโครงการ
2. ทำไม Agile ถึงเป็นที่นิยมในปี 2024?
Agile ได้รับความนิยมมากขึ้นในปี 2024 เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและไม่แน่นอน Agile ช่วยให้องค์กรสามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วขึ้น ลดความเสี่ยง และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
3. Agile เหมาะกับโครงการประเภทใด?
Agile เหมาะสำหรับโครงการที่มีความซับซ้อนสูง มีความไม่แน่นอน หรือต้องการการปรับเปลี่ยนบ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์ โครงการด้านการตลาด โครงการวิจัยและพัฒนา และโครงการที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม
4. อะไรคือความท้าทายในการนำ Agile ไปใช้?
ความท้าทายในการนำ Agile ไปใช้อาจรวมถึง การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร การขาดความเข้าใจเกี่ยวกับ Agile การต่อต้านจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการขาดทักษะหรือประสบการณ์ในการทำงานแบบ Agile
5. มีเครื่องมือหรือกรอบการทำงานใดบ้างที่ช่วยในการทำ Agile?
มีเครื่องมือและกรอบการทำงานมากมายที่ช่วยในการทำ Agile เช่น Scrum, Kanban, Lean, Extreme Programming (XP) และ Scaled Agile Framework (SAFe) การเลือกเครื่องมือหรือกรอบการทำงานที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับลักษณะของโครงการและองค์กร
6. Agile ช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จในปี 2024 ได้อย่างไร?
Agile ช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จในปี 2024 โดยการเพิ่มความคล่องตัว ปรับปรุงการสื่อสารและการทำงานร่วมกัน ส่งเสริมนวัตกรรม และสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้เกิดความพึงพอใจของลูกค้าที่สูงขึ้น ต้นทุนที่ลดลง และผลกำไรที่เพิ่มขึ้น