Article

Tips ทำงานที่บ้านช่วง COVID-19 ให้ได้งานและมีความสุข


การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเราหลายๆ คน แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป งานที่ยังไม่เสร็จคงต้องเป็นเราเป็นผู้สำเร็จ และเพื่อลดผลกระทบจากภาวะดังกล่าว หลายบริษัทจึงมีนโยบาย Work from home

แน่นอนว่านโยบายนี้ช่วยลดผลกระทบทั้ง แต่ดังกล่าวนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงซึ่งหากเตรียมตัวไม่ดีก็จะกลายเป็นภาระของคนทำงาน พาลให้บริษัทไม่ได้งานที่พึงปราถนาไว้ก็จะยิ่งทำให้ทุกอย่างแย่ลงไปใหญ่ ด้วยเหตุนี้ เราจึงขอนำเสนอ Tips ที่ควรรู้สำหรับคนที่ต้องหันมาทำงานที่บ้านที่คิดมาสำหรับพนักงานทุกระดับและทุกแผนกมาให้ทุกคนได้ลองปรับใช้กัน

ตกแต่งตำแหน่งทำงานให้น่า “นั่ง” ยาวๆ Tips ทำงานที่บ้านช่วง (Tips ทำงานที่บ้านช่วง COVID-19)


หลายคนคิดว่าการนั่งทำงานที่บ้านคือทำงานตรงไหนก็ได้ของบ้านที่เรารู้สึกสบาย แต่อันที่จริงแล้ว ยิ่งที่ที่ทำให้เราสบายที่สุด มักจะเป็นที่ที่บั่นทอนความขยันของเรามากที่สุด วิธีที่ดีสำหรับการทำงานที่บ้านคือการจัดที่นั่งทำงานให้กลายเป็นที่นั่งทำงานอย่างจริงจังและแยกออกจากพื้นที่หย่อนใจภายในบ้าน การแยกพื้นที่จะช่วยให้เรามีสมาธิอยู่กับสิ่งที่ทำมากขึ้น

การแยกพื้นที่ไม่จำเป็นต้องถึงกับแยกห้องใหม่ เราอาจจะทำการเปลี่ยนบรรยากาศได้แบบง่ายๆ เช่น ปรับเก้าอี้ของเราให้สูงกว่าปกติ ย้ายไปนั่งอีกฝั่งของโต๊ะกินข้าว เอาหนังสือที่เกี่ยวข้องกับงานวางไว้บนโต๊ะ หรือแม้แต่สร้าง Login Account สำหรับการทำงานเป็นการเฉพาะใน Laptop ของเรา ก็ช่วยให้เราปรับ Focus ให้อยู่กับงานได้ดีขึ้น

แต่หากไม่สามารถมีสมาธิที่บ้านได้จริงๆ การไปยังสถานที่สาธารณะที่คนไม่พลุกพล่านมากนักก็อาจจำเป็นสำหรับบางคน แต่อย่าลืมนำหน้ากากอนามัยติดตัว พร้อมกับหมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วย

กำหนดตารางเวลาของวันให้ชัด และอย่าลืมช่วงพักเบรก
หลายคนคิดว่าการทำงานที่บ้านคนเดียว อาจทำให้เรามีอิสระที่จะทำงานตอนไหนของวันก็ได้ แต่อันที่จริงแล้ว เราจำเป็นต้องกำหนดตารางเวลาการทำงานให้ชัดกว่าเดิม เพราะบรรยากาศการทำงานที่บ้านจะนิ่งกว่าการทำงานร่วมกันในสำนักงาน ทำให้หลายคนหลงลืมกำหนดเวลาที่เหมาะสม เราอาจใช้เครื่องมืออย่าง Schedule หรือ Reminder กำหนดช่วงเวลาทำงานให้เหมือนกับตอนอยู่สำนักงาน อีกทั้งการอยู่ในกรอบเวลา จะช่วยให้เรามีสมาธิและเป้าหมายซึ่งช่วยให้เราผลิตชิ้นงานออกมาได้

อีกเรื่องที่คำนึงไว้ด้วยคือ เวลาพัก เนื่องจากการ Work from home ส่วนใหญ่ เราจะทำงานคนเดียวที่บ้านซึ่งบรรยากาศจะไม่เปลี่ยนมากนัก แม้จะเป็นเวลาพักเที่ยงก็มีโอกาสที่เผลอจะทำงานอย่างไหลลื่นจนลืมมื้อเที่ยงจนได้ การกำหนดช่วงเวลาพักในตารางเวลาของวันจะช่วยให้เราได้หยุดพักทั้งร่างกายและสมองจนสามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพอีกครั้ง อาจจะลองกำหนดเวลาพักเป็นช่วงเที่ยงตรงและบ่ายสามโมงของวันดูก็ได้

สื่อสารให้มากขึ้นและชัดเจนกว่าปกติ
สาเหตุหนึ่งที่การทำงานที่บ้านของหลายองค์กรไม่เวิร์คคือ การสื่อสารที่น้อยเกินไป เนื่องจากการทำงานที่บ้าน เราไม่มีโอกาสพบปะเห็นหน้าเพื่อนร่วมงานบางคนทำให้เราไม่อาจถ่ายทอดสารได้เต็มที่ ดังนั้น เราต้องตระหนักว่าควรสื่อสารกับทีม “ให้มากกว่าปกติ” โดยเฉพาะกับคนที่ควรจะรู้เรื่องเกี่ยวกับเรา รู้ว่าเราทำงานส่วนไหนอยู่ งานของเราติดขัดอะไร งานของเราชิ้นใดที่เสร็จแล้ว ชิ้นใดที่ต้องการความคืบหน้าจากคนอื่น หรือหากต้องลาพัก เราจะลาพักวันไหน เป็นเวลากี่วัน

การสื่อสารที่ดีไม่จำเป็นต้องยืดยาวหรือเป็นทางการมากนัก เพียงแค่ต้องสื่อสารด้วยข้อความที่ชัดเจน มุ่งเน้นสิ่งที่เกิดขึ้น และสื่อสารให้บ่อยครั้งกว่าปกติ วิธีหนึ่งที่ได้ผลคือการกำหนดช่วงเวลาเพื่ออัพเดทงานและสถานะภายในทีมร่วมกัน การได้เห็นความคืบหน้าและจำนวนงานช่วยให้การจัดการงานเป็นไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น

คุยกับคนที่บ้านให้เข้าใจว่าเราต้องทำงาน
เชื่อว่าหลายคนที่ต้องหันมาทำงานที่บ้านช่วงนี้ อาจอาศัยอยู่กับครอบครัวที่มีลูกหลานหรือญาติผู้ใหญ่ด้วย เราจำเป็นต้องตกลงกับคนที่บ้านว่า เราพร้อมจะทำอะไรให้กับคนที่บ้านในช่วงไหนของวัน โดยให้ยึดตารางการทำงานเหมือนกับเวลาที่เราทำงานในสำนักงาน เพื่อลดการรบกวนซึ่งบั่นทอนประสิทธิภาพของเรา ทั้งนี้ หากคนที่บ้านเข้าใจความสำคัญและสภาวะที่เราเป็นอยู่ตอนนี้ ก็อาจกลายเป็นผู้สนับสนุนที่ทำให้การ Work from home ของเรามีประสิทธิภาพและมีความสุขมากขึ้นทีเดียว

เตรียมอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ให้พร้อม
อีกข้อหนึ่งที่หลายคนละเลยคือการเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อมใช้งานตามขอบเขตงานของเรา โดยเฉพาะทีมที่มีโอกาสต้องติดต่องานกับบุคคลภายนอกและมักใช้ห้องประชุมเป็นที่ติดต่อหลัก แล้วต้องเปลี่ยนมาใช้ Online Communication Platform (เช่น Zoom, Google Hangout ฯลฯ) แทน ก็ต้องมีการทดสอบความพร้อมของอุปกรณ์และเครือข่ายด้วยทั้งในแง่ความสะดวกและความปลอดภัยของระบบตามมาตรฐานก่อนที่จะใช้งานจริง ซึ่งหากบริษัทสามารถดำเนินการส่วนนี้จนเสถียรก็จะเปิดทางเลือกในการทำงานของทีมในภาวะปกติ อันเป็นข้อได้เปรียบและดึงดูดบุคลากรได้ในอนาคตด้วย

ทักไปเม้ามอยกับเพื่อนร่วมงานบ้าง
เราไม่อาจปฏิเสธความเหงาจากการทำงานที่บ้านคนเดียวได้ อยู่ๆ บรรยากาศการทำงานที่คึกคักก็เปลี่ยนไปเป็นเสียงพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศหึ่งๆ ที่ห้องแซมด้วยเสียงแชทรัวๆ ที่มีแต่เรื่องงาน ดังนั้น เพื่อผ่อนคลายอารมณ์ ก็ไม่ควรพลาดที่จะ “เม้ามอย” กับเพื่อนร่วมงานเมื่อสะดวกบ้าง เมื่อมีโอกาสพูดคุยกัน เช่น ตอนประชุม ประสานงาน ปรึกษาหารือเรื่องต่างๆ ก็อย่าลืมถามไถ่สารทุกข์สุขดิบระหว่างกันบ้าง หรืออาจจะเล่นสนุกด้วยการส่ง Meme ให้ดูในแชทที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานก็เป็นวิธีคลายเครียดร่วมกันที่ดี

คิดบวกไว้ดีกว่า หาโอกาสพัฒนาตัวเองจากความเปลี่ยนแปลง
การทำงานที่บ้านอาจเกิดความขลุกขลักจากการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อดีไม่น้อย ทั้งการได้อยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่คุ้นเคย หลายคนมีโอกาสหันมาจัดบ้านใหม่ให้เหมาะสมกับที่ต้องอยู่ทั้งวันมากขึ้น การไม่ต้องเดินทางเองก็ทำให้เรามีเวลามากขึ้น เราสามารถเอาเวลาไปอ่านหนังสือ ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม หรือแม้แต่สิ่งง่ายๆ ในบ้านที่เราไม่มีโอกาสได้ทำหากต้องเดินทาง เช่น ทำอาหารกินเอง ใช้เวลาพูดคุยกับคนที่บ้านมากขึ้น ทั้งหมดนี้ เราจะสามารถมองเห็นได้จากการคิดในแง่บวก ไม่แน่ว่าการ Work from home อาจจะเป็นแรงบันดาลใจใหม่ให้ชีวิตเราเจอเป้าหมายใหม่ที่สำคัญสำหรับเราก็เป็นได้

จะเห็นได้ว่าหลายข้อที่เรานำเสนอไปถือเป็นโอกาสสำหรับทั้งบุคคลและองค์กรในระยะยาวไม่น้อยทีเดียว ซึ่งเราหวังว่าสิ่งที่เรานำเสนอไปจะช่วยให้ทุกท่าน Work from home อย่างมีความสุขมากขึ้น สุดท้ายี้ ขอให้ทุกท่านอยู่รอดปลอดภัยท้ังสุขภาพกาย ใจ และการเงิน แล้วเราจะผ่านช่วงเวลานี้ไปด้วยกัน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก time.com และ pcmag.com


ภาพประกอบ pexels.com

ทีมา techsauce.co